
สุกี้ยากี้ มาจากคำว่า ซูกิ ที่แปลว่า พลั่ว กับ ยากิ ที่แปลว่า เนื้อสัตว์ สุกี้ยากี้กำเนิดขึ้นในโลกตั้งแต่ยุคกลางของญี่ปุ่น เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งนักรบในยุคกลางของญี่ปุ่นได้ออกล่าเนื้อสัตว์ (ยากิ) และนำเนื้อมาให้ชาวบ้านใช้พลั่ว (ซูกิ) ปรุงอาหารให้ จึงเรียกเมนูนี้ว่า ซูกิยากิ จนกระทั่งญี่ปุ่นเปิดประเทศออกสู่สากล ในปี ค.ศ. 1890 เมนูซูกิยากิก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยที่ในช่วงนั้นก็มีการพัฒนาพลั่วที่ใช้เป็นหม้อต้มให้ใช้งานง่าย และเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนั้นด้วย

ช่วงแรก ซูกิยากิปรุงได้ 2 แบบ คือ แบบคันโตะ (แบบโตเกียวหรือภาคกลาง) ซึ่งจะปรุงรสน้ำซุปให้มีรสชาติกลมกล่อม พร้อมนำเนื้อสัตว์และผักมาต้มได้เลยทันที และแบบคันไซ (แบบโอซากะหรือภาคเหนือ) ที่ต้องต้มเนื้อสัตว์และผักก่อน จากนั้นจึงค่อยนำเนื้อและผักออกมาปรุงรสด้วยซอสและซีอิ๊วก่อนจะรับประทาน
ส่วนในไทยนั้น สุกี้ยากี้เริ่มรู้จักกันเมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยมีร้านอาหารชื่อสุกี้โคคาเป็นผู้นำอาหารเสิร์ฟในหม้อเข้ามาเป็นเจ้าแรก โดยเปิดเป็นร้านย่านสยามสแควร์ และด้วยรสชาติความร่อย ความแปลกใหม่ จึงทำให้ร้านสุกี้ยากี้นี้ขยายสาขาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

สุกี้ยากี้แบบไทย
อย่างไรก็ดี สุกี้ยากี้ในแบบที่รู้จักและคุ้นเคยในปัจจุบันก็ถูกดัดแปลงไปเรื่อยๆ ให้ถูกปากคนในแต่ยุคสมัย โดยนอกจากผักและเนื้อสัตว์อย่างหมู รวมทั้งเนื้อวัว ก็ยังมีอาหารทะเล และอาหารชนิดอื่นๆ มาให้เลือกกินหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งในร้านสุกี้ยากี้ก็มักจะมีออพชั่นเสริมเป็นติ่มซำ เป็ดย่างกับบะหมี่หยกที่ถูกอกถูกใจคนไทยทั่วบ้านทั่วเมือง ปัจจุบันคนไทยนิยมสังสรรค์กับเพื่อนหรือในหมู่ญาติมิตร
โดยมีร้านสุกี้เป็นสถานที่เป้าหมายหลักของการพบปะกัน ความนิยมแบบนี้ไม่ได้แพร่หลายเฉพาะในหมู่คนกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปสู่ต่างจังหวัดอีกด้วย ภาพที่มักเห็นจนชินตา ก็คือ ผู้คนเนืองแน่นในร้านสุกี้ แบบนี้แล้วลองทำสุกี้ยากี้รับประทานที่บ้านเอง ไม่ต้องไปเข้าคิวรอรับประทานกันดีกว่า

ทำสุกี้ยากี้รับประทานที่บ้าน
การทำสุกี้ยากี้รับประทานกันเองในบ้าน วิธีทำนั้นไม่ได้ยุ่งยากอะไรนัก หาหม้อมา 1 ใบ จะเล็กหรือใหญ่ ก็ขึ้นกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว หรือจะใช้หม้อไฟตั้งน้ำซุปให้เดือด ใส่ผักและเครื่องปรุงลงไปลวก จะใส่น้ำจิ้มลงในหม้อหรือปรุงแต่ละชามก็ได้ วิธีเตรียมน้ำซุป ให้นำซี่โครงไก่หรือกระดูกหมู ต้มในน้ำเดือด คอยช้อนฟองออก หากใครไม่ทานเนื้อสัตว์ก็เอาเห็ดฟางต้มแทน เติมเกลือไปเล็กน้อย ส่วนผักและเครื่องปรุงก็มี ผักกาดขาว ตั้งโอ๋ ปวยเล้ง ผักบุ้งจีน เซ่งจี้ ตับ วุ้นเส้น ขึ้นฉ่าย ไข่ไก่ เลือกใส่ตามใจชอบ
ที่ขาดไม่ได้คือ น้ำจิ้ม จะประกอบด้วยเต้าหู้ยี้ 2 ชิ้น (บี้ละเอียด) กระเทียมดอง 3 หัว และน้ำนิดหน่อย น้ำมันหอย 5 ช้อนโต๊ะ น้ำมันงา 3 ช้อนโต๊ะ รากผักชี กระเทียม 1 หัว (ตำกับรากผักชี) พริกขี้หนู (มากน้อยตามใจชอบ) มะนาว 2 ลูก น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ซอสพริกศรีราชา 6 ช้อนโต๊ะ วิธีทำน้ำจิ้ม เริ่มจากนำเครื่องปรุงทั้งหมดผสมให้เข้ากัน เติมน้ำซุปลงไปเล็กน้อย (อย่าให้เหลวมาก) แล้วคนให้เข้ากัน โรยด้วยงาคั่ว และผักชีหั่นฝอย
แหล่งกำเนิดสุกี้ยากี้นั้นเป็นประเทศหนาวอย่างญี่ปุ่น ซึ่งเขานั่งกินสุกี้ร้อนๆ ในบรรยากาศหนาวเย็น แต่เมืองไทย คงไม่มีใครชอบรับประทานสุกี้ร้อนๆ ในบรรยากาศร้อนอบอ้าว ก็เลยเอาอาหารร้อนๆเข้าไปในห้องแอร์ให้บรรยากาศเย็นๆ บนโต๊ะแต่ละโต๊ะมีหม้อไฟฟ้ากำลังทำหน้าที่ต้มน้ำซุปให้เดือด แข่งกับเครื่องปรับอากาศที่ทำงานอย่างหนัก เพื่อส่งความเย็นมาให้ลูกค้าที่มาใช้บริการได้รับประทานไปพร้อมๆ กับความเย็นสบาย
แต่หากทำรับประทานเองที่บ้าน ตั้งโต๊ะใต้ต้นไม้ใหญ่หน้าบ้าน หรือนั่งสังสรรค์กันตรงนอกชานข้างบ้าน เด็กๆ ได้วิ่งเล่นกันใต้ต้นไม้ ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันช่วยประหยัดพลังงานของโลก ไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าที่จะใช้ในการต้มน้ำ และเดินเครื่องปรับอากาศในเวลาเดียวกัน
เครดิตภาพจาก commons.wikimedia.org
#มุมอร่อย #ร้านอาหารอร่อยใกล้ฉัน #รีวิวคาเฟ่ #รีวิวร้านอาหาร #เมนูอาหาร #สุกี้ยากี้