

อาหารปิ้งย่างเป็นอาหารยอดนิยมของคนในยุคสมัยนี้ ดังนั้นจึงพบเห็นได้ทั่วไปแทบทุกที่ เพราะ อร่อย สะดวก หาซื้อง่าย มีขายตั้งแต่บนรถเข็น แผงลอยริมถนน ไปจนถึงร้านอาหารระดับใหญ่ ๆ ซึ่งก็มีทั้งหมูปิ้ง หมูย่าง ไก่ย่าง ปลาดุกย่าง เนื้อย่าง อาหารทะเลปิ้งย่าง หมูกระทะ เป็นต้น อาหารปิ้งย่างนี้นอกจากจะมีความอร่อยแล้ว ก็ยังแฝงเอาอันตรายอื่นมาพร้อมกับความอร่อยด้วย เพราะอาหารปิ้งย่างอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
– อาหารปิ้งย่าง ความอร่อยที่มาพร้อมกับมะเร็ง
ตามปกติ ตับจะเป็นปราการด่านแรกที่ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงสารพิษ ดังนั้นสารก่อมะเร็งในอาหารที่รับประทานเข้าไปจะถูกดูดซึมแล้วไปที่ตับ ด้วยเหตุนี้ ตับจึงเป็นอวัยวะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจากการบริโภคอาหารที่มีสารพิษมากที่สุด สารพิษที่พบในอาหารปิ้งย่าง ได้แก่
- สารโพลีไซคลิคอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน หรือเรียกย่อ ๆ ว่า พีเอเอช สารนี้มักเกิดกับเนื้อสัตว์ส่วนที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ด้วย เวลาปิ้งย่าง ไขมันที่ติดอยู่จะหยดลงบนถ่านหรือแผ่นความร้อนแล้วเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เป็นควันที่ลอยขึ้นไปเกาะกับผิวของอาหารพร้อมกับควันดำ สารพีเอเอชจะพบมากบริเวณที่อาหารไหม้เกรียม มักพบในอาหารปิ้งย่าง จำพวกหมูย่างติดมัน เนื้อย่างติดมัน ไก่ย่างส่วนที่ติดมัน
- สารเฮเทอโรไซคลิกเอมีน หรือสารเอชซีเอ เกิดจากการปิ้งย่างที่ใช้ความร้อนสูงหรือเกิดจากกระบวนการปรุงอาหารที่ใช้ระยะเวลาในการต้มเคี่ยวนาน ๆ เช่น เนื้อตุ๋น ไก่ตุ๋น หมูตุ๋น เป็นต้น รวมถึงในอาหารทอด เช่น ไก่ทอด หมูทอด ซึ่งปริมาณสารเอชซีเอ ขึ้นอยู่กับระดับความร้อนและระยะเวลาที่ใช้ในการปรุงอาหาร
- สารไนโตรซามีน เกิดจากความร้อนในการปิ้งย่างจะทำให้ไนโตรเจนในอากาศเกิดการแตกตัวและทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ เป็นไนโตรเจนออกไซด์แล้วทำปฏิกิริยากับเอมีนที่ระเหยจากเนื้อสัตว์ แล้วเกาะตามผิวอาหารที่ปิ้งย่าง พบในเนื้อที่ใส่สารไนเตรต ไนไตรท์เป็นวัตุเจือปนอาหารหรืออาหารปิ้งย่าง จำพวกปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง เป็นต้น

– วิธีการหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารก่อมะเร็งที่มาจากอาหารปิ้งย่าง
สิ่งที่ควรทำก่อนปิ้งย่างเนื้อสัตว์ที่ติดมันคือ ตัดส่วนที่เป็นมันออกไปก่อน เพื่อลดไขมันที่จะไปหยดลงบนถ่าน ควรห่อหุ้มเนื้ออาหารด้วยกระดาษฟอยล์หรือใบตอง เพื่อป้องกันไขมันจากเนื้ออาหารหยดลงไป บนถ่าน ใช้เตาไฟฟ้าแทนการใช้เตาถ่าน เพราะสามารถจะควบคุมความร้อนได้ดีกว่า ใช้อุณหภูมิในการทำอาหารปิ้งย่าง ที่ไม่สูงมากนักและเนื้อสัตว์ที่นำมาย่างควรอยู่สูงกว่าเปลวไฟพอสมควร ไม่ควรวางไว้ใกล้หรือติดกับเปลวไฟจนเกินไป และพยายามพลิกเนื้อบ่อย ๆ ระหว่างปิ้งย่างอาหาร
ไม่ควรบั้งเนื้ออาหาร และไม่ควรใช้ส้อมจิ้มเนื้ออาหารเพื่อทำการพลิกชิ้นเนื้อ เพราะจะทำให้ไขมัน น้ำเลือดหยดลงไปบนถ่าน เกิดเป็นสารก่อมะเร็งได้ ทางที่ดีควรทำการพลิกชิ้นเนื้อด้วยที่คีบอาหารแทน อาหารที่ย่างเสร็จให้เลือกส่วนที่ไหม้เกรียม ทิ้งออกไปให้มากที่สุดก่อนที่รับประทาน
รับประทานอาหารที่เพิ่มความสามารถในการขับสารพิษต่าง ๆ ออกไปจากร่างกายได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น รับประทานผัก ผลไม้ซึ่งอุดมไปด้วยใยอาหารช่วยทำให้การเคลื่อนที่ของกากอาหารในลำไส้ออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น ทำให้สารพิษที่อาจมีอยู่ในทางเดินอาหาร มีโอกาสดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยลง ผักบางชนิด เช่น ผักตระกูลกะหล่ำ เช่น ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ มีสารบางอย่างที่ช่วยให้ระบบทำลายสารพิษทำงานได้มากขึ้น
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับประทานอาหารปิ้งย่างนั้น เป็นการใช้เวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวหรือกับเพื่อนฝูงได้อย่างคุ้มค่า แต่อย่าให้ความคุ้มค่านั้นมาทำลายสุขภาพด้วยสารก่อมะเร็งที่ปะปนอยู่ในอาหารปิ้งย่าง ทางที่ดีเวลารับประทานอาหารปิ้งย่าง ไม่ว่าจะเป็นปลาดุกย่าง ไก่ย่าง คอหมูย่าง ควรรับประทานคู่ไปกับส้มตำหรือรับประทานควบคู่ไปกับยำต่าง ๆ ที่อุดมไปด้วยผักมากมายก็สามารถลดการเกิดอันตราย จากสารก่อมะเร็งจากการรับประทานอาหารปิ้งย่าง ดังกล่าวได้
เครดิตภาพจาก pixabay.com
เว็บที่ช่วยนำเสนออาหารสุขภาพ หรือว่า กินอะไรดี แนะนำร้านอาหารอร่อย ๆ ให้ได้ตามไปชิมแบบชิล ๆ ตามสไตล์ รวมถึง รีวิวคาเฟ่ และบาร์-ร้าน Nightlife สุดชิค น่านั่งน่าไปเก็บบรรยากาศ มาฝาก
#กินอะไรดี #เมนูอาหาร #ร้านอาหารอร่อย #Nightlife #รีวิวคาเฟ่ #ร้านอาหาร-คาเฟ่ #ที่กิน-ที่พัก #แนะนำร้านอาหาร #อาหาร-สุขภาพ #savourworld.com #อันตรายในอาหารปิ้งย่าง